วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปลูกลำไย


การปลูกลำไย


ลำไย เป็นไม้ผลกึ่งเมืองร้อย เจริญเติบโตได้ดีในเมืองร้อน ปัจจุบันนี้ลำไยเป็นผลไม้ที่นิยมบริโภคกันมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นพืชที่น่าสนใจยิ่งของชาวสวน เพราะเป็นผลไม้ที่มีราคาดีและมีคู่แข่งน้อยมากในตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ลำไยยังเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมอีกด้วย

 

สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม



1. ดินและสภาพพื้นที่ ลำไยต้องการดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงถึงปานกลางดินมีการระบายน้ำดี เช่น ดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนปนเหนียว พื้นที่ดินควรมีความสูงพอสมควร



2. น้ำและความชื้น ในเขตที่ไม่มีการชลประทานต้องการปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมประมาณ 1,200-1,400 มิลลิเมตรต่อปี ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ถ้าลดลงต่ำมากาจะทำให้ดอกผลแห้งร่วงไป อุณหภูมิต่ำประมาณ 10-12 องศาเซลเซียส เมื่อติดผลแล้วอุณหภูมิจะสูงขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลแห้งและแตก



พื้นที่ปลูกลำไยในประเทศไทย



การปลูกลำไยส่วนใหญ่ปลูกในภาคเหนือ เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 80% ของลำไยปลูกอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง นอกจากนี้ก็มีปลูกกันบ้างในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่คุณภาพของลำไยต่ำกว่าในภาคเหนือ



พันธุ์ลำไย



ลำไยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ



1. ลำไยเครือ เป็นลำไยที่มีผลเล็ก เมล็ดโต มีกลิ่นคาวคล้ายกลิ่นกำมะถัน มีปลูกทั่วไป นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ



2. ลำไยต้น เป็นลำไยที่รู้จักกันทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ


- ลำไยพื้นเมือง (ลำไยกระดูกหรือลำไยผลเล็ก) มีผลเล็กเมล็ดโต เนื้อบาง ให้ผลดก เปลือกลำต้นขรุขระมาก ต้นตรงปัจจุบันนิยมใช้ทำต้นตอ



- ลำไยกระโหลก เป็นลำไยที่นิยมบริโภคกันมาก ปัจจุบันมีพันธ์ใหม่ ๆ มาก พันธุ์ที่สำคัญในปัจจุบันได้แก่พันธ์ อีดอ แห้ว สีชมพู และเบี้ยวเขียว



พันธุ์ลำไยกระโหลก



1. พันธุ์แดงกลม (อีแดง) ให้ผลดกที่สุด ความสม่ำเสมอในการออกผลดี แต่มีราคาต่ำ เพราะผลเล็ก เมล็ดโต เนื้อบาง แฉะ แตกง่าย เก็บไม่ได้นาน และไม่ต้านทานต่อสภาพน้ำขัง


2. พันธุ์อีดอ เป็นพันธุ์เบา แก่ก่อนพันธุ์อื่น ขายได้ราคาดี เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลสม่ำเสมอ ไม่เว้นปี ผลผลิตดีพอควร คุณภาพปานกลาง เนื้อไม่ค่อยกรอบ มีกลิ่นคาวเล็กน้อย


3. พันธุ์แห้ว เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพการบริโภคดีมาก เนื้อแห้ง สีขาวขุ่นและกรอบที่สุด เปลือกหนา ทนทานต่อการขนส่งและเก็บไว้ได้นาน แต่มีข้อเสียคือ ออกผลไม่สม่ำเสมอมักเว้นปี มีช่วงการเก็บผลสั้น ก้านแข็งทำให้บรรจุภาชนะยาก ผลเบี้ยวเล็กน้อย จึงปลอมขายเป็นพันธุ์เบี้ยวเขียว ซึ่งราคาดีกว่า แต่ก็เป็นพันธุ์เดียวที่โรงงานต้องการมากเพราะกรอบทน


4. พันธุ์สีชมพู มีคุณภาพการบริโภคดีมาก รสหวานจัดที่สุด เนื้อสีชมพู หนา กรอบ มีกลิ่นหอม ช่อยาว ปีที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมดีจะให้ผลผลิตสูงมาก มีข้อเสียคือ ค้นไม่ค่อยแข็งแรง ต้องการดินอุดมสมบูรณ์ และการดูแลรักษาดี มีน้ำสม่ำเสมอและความชื้นในอากาศสูงพันธุ์นี้เป็นที่นิยมมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ


5. พันธุ์เบี้ยว (อีเบี้ยว) เป็นพันธุ์ที่รู้จักกันแพร่หลาน แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ


- เบี้ยวเขียวก้านแข็ง มีเมล็ดและผลโต เนื้อกรอบ เปลือกหนา คล้ายกับพันธุ์แห้ว ผลไม่ดก ออกผลไม่สม่ำเสมอ ก้านช่อสั้น จึงไม่ค่อยนิยมนัก


- เบี้ยวเขียวก้านอ่อน มีคุณภาพในการบริโภคดี กรอบมาก รสหวานจัด ผลโตสม่ำเสมอกัน เปลือกหนา เก็บไว้ได้นาน ช่อยาวให้ผลดกมาก ออกผลล่ากว่าพันธุ์อื่นทำให้มีราคาดี ก้านช่อยาว บรรจุภาชนะได้สะดวก



พันธุ์เบี้ยวเขียวมักถูกปลอมขายโดยใช้พันธุ์แห้วทั้งกิ่งตอนและผล แต่อาจสังเกตความแตกต่างได้บ้างจาก



ก. ช่อผล พันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อน มีช่อผลยาว และมีความโน้ม แต่พันธุ์แห้วมีช่อผลสั้นแข็งทื่อและผลไม่สม่ำเสมอ



ข. ผล พันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อนจะมีผลเบี้ยวเห็นได้ชัดเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว แต่พันธุ์แห้วมีเปลือกสีน้ำตาลคล้ำปนดำ



ค. ใบ พันธุ์เบี้ยวเขียวก้านอ่อน มีใบบางสีเขียวคล้ำเป็นมันและพลิ้วเล็กน้อย แต่พันธุ์แห้ว แผ่นใบค่อนข้างเรียบ ยาวทื่อ หนา


6. พันธุ์กระโหลกใบดำ (ใบดำ อีดำ) เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดกออกผลล่า ช่วงเวลาการเก็บยืดไปได้นาน ช่อผลยาว ขนาดผลสม่ำเสมอบรรจุภาชนะได้สะดวก ทนต่อความแห้งแล้งและน้ำขัง แฉะ มีข้อเสีย คือ เนื้อค่อนข้างเหนียว ผลไม่โต ผิวไม่สวย



7. พันธุ์ปู่มาตีนโค้ง มีผลสวยมากขนาดใหญ่ที่สุด สีเขียวสวยให้ผลดก แต่คุณภาพเลวมาก รสไมดี และมีกลิ่นคาวจัด (กลิ่นกำมะถัน)



แหล่งพันธุ์ลำไย



ปัจจุบันไม่มีการปลูกลำไยเพื่อขยายพันธุ์โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงต้องติดต่อชื้อกับชาวสวนลำไยทั่วไปโดยอาจติดต่อกับชาวสวนโดยตรง หรือเพื่อความแน่นอนอาจติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหรือเกษตรอำเภอในแหล่งปลูกลำไยนั้น การสั่งกิ่งตอนนั้นในช่วงติดผล ผู้ซื้อควรไปสังเกตดูว่าต้นไหนดก มีคุณภาพดี แล้วกำหนดกิ่งตอนเป็นต้น ๆ ไป ควรสั่งซื้อก่อนฤดูการทำกิ่งตอน และมาดูแลการตัดกิ่งตอนด้วยตนเองก่อน ควรจะซื้อให้มากกว่า ปริมาณที่ต้องการใช้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์







วิธีการปลูกลำไย



ลำไยเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่ที่นิยมมากในปัจจุบันคือ การตอนกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลแน่นอนเนื่องจากลำไยเป็นพืชที่ออกรากได้ง่าย แต่มีข้อเสียคือต้นไม่มีรากแก้วจึงทำให้มีโอกาสโค่นล้มเนื่องจากลมพายุสูงมาก ปัจจุบันชาวสวนบางรายเริ่มให้ความสนใจในการขยายพันธุ์ลำไยโดยวิธีการอื่น ๆ เช่น การเสียบกิ่ง, การทาบกิ่ง และการเสริมราก โดยใช้ต้นตอที่เพาะจากเมล็ด ซึ่งจะมีระบบรากแก้วที่สามารถหยั่งลึกลงไปในดิน ป้องกันต้นลำไยโค่นล้ม

การขยายพันธุ์ลำไยด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้






การขยายพันธุ์โดยวิธีการเสียบกิ่ง



การปลูกลำไยในปัจจุบันชาวสวนลำไยมักปลูกลำไยด้วยกิ่งตอนจึงทำให้เกิดปัญหาการโค่นล้มเนื่องจากลมพายุ ทั้งนี้เนื่องจากระบบรากของลำไยที่ได้จากการตอนกิ่งเป็นระบบรากพิเศษ คือ ระบบรากแบบนี้จะแผ่กว้างไปในแนวนอน จากการสังเกตรากของลำไยจะน้อย ประกอบกับลำไยมีทรงพุ่มทึบและกว้างในปีที่ลำไยติดผลมาก ๆ เมื่อเกิดลมพายุจึงมักจะโค่นล้ม พบว่าปีหนึ่ง ๆ ลำไยถูกพายุโค่นล้มเป็นจำนวนมาก วิธีการที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ทางหนึ่ง คือการปลูกกิ่งพันธุ์ลำไยด้วยกิ่งที่ขยายพันธุ์โดยวิธีการเสียบยอด ซึ่งจะมีระบบรากแก้วที่สามารถหยั่งลึกลงไปในดิน การเสียบกิ่งจำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ในการทำจึงจะประสบผลสำเร็จ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

 
การเตรียมต้นตอ



ต้นตอที่จะใช้ในการเสียบกิ่งได้จากการเพาะเมล็ด เมื่อแกะเอาเนื้อออกควรรีบนำไปเพาะทันที หากเก็บเมล็ดไว้นานเมล็ดจะสูญเสียความงอก มีการศึกษาเกี่ยวกับการเก็บรักษาเมล็ดลำไย พบว่าเมล็ดที่แกะออกจากผลแล้วนำไปเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง พบว่า เพียง 10 วัน เมล็ดลำไยจะไม่งอกเลย ในกรณีที่จะเก็บเมล็ดไว้นาน ๆ ควรเก็บไว้ทั้งผล โดยแช่ในสารกันราพวกเบนโนมิล ความเข้อมข้น 0.05 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร นาน 5 นาที สามารถเก็บไว้ได้นาน 30 วันโดยมีเปอร์เซ็นต์การงอกถึง 85 เปอร์เซ็นต์ การเพาะอาจเพาะลงในถุงพลาสติกหรือเพาะในกระบะ ฝังเมล็ดให้ลึกประมาณ 0.5 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มประมาณ 2 สัปดาห์ เมล็ดจะเริ่มงอก เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 1 ปี หรือมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร ก็สามารถนำไปใช้เป็นต้นตอได้







การเตรียมยอดพันธุ์ดี



ยอดพันธุ์ดีที่ใช้ในการเสียบกิ่งควรมีความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงกับขนาดของต้นตอ ริดใบออกให้เหลือใบไว้ 2-3 ใบรวม มีใบย่อย 2-3 คู่ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสียบยอดคือ ช่วงปลายฤดูร้อนถึงฤดูฝน




ขั้นตอนการเสียบกิ่ง ใช้วิธีการแบบเสียบลิ่มซึ่งได้ผลถึง 90 กว่าเปอร์เซ็นต์


1. ตัดยอดต้นตอสูงจากพื้น 3-4 นิ้ว ผ่าต้นตอให้ยาวประมาณ 1 นิ้ว


2. เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มยาวประมาณ 1 นิ้ว

3. เผยอรอยผ่าบนต้นตอแล้วสอดโคนกิ่งพันธุ์ดี จัดแนวเนื้อเยื่อเจริญให้ชิดกัน


4. พันด้วยผ้าพลาสติก จากนั้นนำไปใส่ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ มัดปากถุงให้แน่นนำไปเก็บไว้ในที่ร่มประมาณ 40-50 วัน จึงเปิดถุง


5. นำออกจากถุง เลี้ยงไว้อีก 2 เดือน จึงนำลงแปลงปลูก




การขยายพันธู์โดยวิธีการตอนกิ่ง



การตอนกิ่งเป็นวิธีที่ง่าย แต่ที่ขยายพันธุ์เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและได้จำนวนต้นในปริมาณที่มากนั้นมีเทคนิคและขั้นตอนในการปฏิบัติดังนี้


1. การเลือกต้นพันธุ์ควรเลือกตอนกิ่งจากต้นพันธุ์ที่ออกดอกติดผลดี ข้อสำคัญต้นพันธุ์ต้องปราศจากโรคโดยเฉพาะโรคพุ่มไม้กวาด


2. เลือกกิ่งที่ตั้งตรง แต่ถ้าเป็นกิ่งนอนก็ใช้ได้ แต่การเกิดรากจะเกิดเฉพาะด้านล่างขนาดความยาวของกิ่งยาวประมาณ 75-100 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่งประมาณ 1.5-2.0 เซนติเมตร


3. ใช้มีดควั่นกิ่งเป็น 2 รอย หรืออาจจะควั่นรอยเดียวจากนั้นให้ใช้คีมปากจิ้งจกบิดโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้มีดกรีดเปลือก ส่วนของเนื้อเยื่อเจริญจะถูกขูดออกมาด้วย การใช้คีมบิดจะทำให้เกิดความรวดเร็ว


4. หุ้มด้วยดินเหนียว และกาบมะพร้าว และผ้าพลาสติก มัดกระเปราะหัวท้ายด้วยเชือกฟางหรือตอก (หรือหุ้มรอยควั่นด้วยถุงขุยมะพร้าว)


5. ประมาณ 30 วัน รากจะเริ่มออกเมื่อเห็นรากมีสีขาวและมีปริมาณมากจึงค่อยตัดมาชำ
ในการตอนกิ่งเพื่อการค้า มักจะเริ่มทำในเดือนพฤษภาคม ซึ่งกิ่งตอนชุดนี้จะสามารถนำไปปลูกได้ในกลาง ๆ ฤดูฝนของปีเดียวกัน




การชำกิ่งตอนลำไย มีขั้นตอนดังนี้


1. เลือกกิ่งที่มีรากสีขาว ลังเกตว่ามีปริมาณรากมากพอสมควรจึงทำการตัดกิ่งตอนลงชำควรริกิ่งและใบบางส่วนออกเพื่อลดการคายน้ำ


2. แกะพลาสติกที่หุ้มกระเปราะออก ควรทำด้วยความระมัดระวังเพราะจะทำให้รากขาดได้


3. นำกิ่งตอนลงชำในภาชนะที่บรรจุวัสดุชำ (ชาวสวนมักใช้ตะกร้าไม้ไผ่สาน หรือที่เรียกกันทางเหนือว่า "เป๊าะ") วัสดุชำประกอบด้วยดินผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 2:1 วางกิ่งให้ตรง กดดินให้แน่น นำกิ่งที่ชำเสร็จแล้ว ไปเก็บไว้ในที่ร่ม ประมาณ 1 เดือน ก็สามารถนำไปปลูกในแปลงได้

อย่างไรก็ตามวิธีการใช้ตะกร้าไม้ไผ่สานเป็นภาชนะปลูกมีข้อเสียคือ ปลวกมักจะเข้าทำลายกัดกินไม้ทำให้ผุง่าย และเมื่อเก็บกิ่งตอนลำไยทิ้งไว้นาน ๆ จะมีรากโผล่ออกจากภาชนะ เมื่อโดนแสงแดดรากอาจได้รับอันตราย มีวิธีการหลีกเลี่ยงปัญหานี้ในกรณีที่เก็บกิ่งตอนไว้นาน ๆ ควรใช้ถุงพลาสติกสีดำขนาด 8x10 นิ้วเป็นภาชนะชำกิ่ง




การขยายพันธุ์โดยวิธีการทาบกิ่ง



การเตรียมต้นตอ


เลือกต้นตออายุประมาณ 1-2 ปี เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.4-1.0 เซนติเมตร นำต้นตอมาล้างรากและตัดรากบางส่วนออก นำไปจุ่มในสารเร่งราก IBA ความเข้มข้น 8,000-10,000 ส่วนต่อล้าน นาน 5 วินาที (อาจใช้เซราดิกซ์ เบอร์ 3) หุ้มด้วยขุยมะพร้าวที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกใสขนาด 4x6 นิ้ว พบว่ากิ่งทาบออกรากได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กิ่งไม่ได้ใช้สารออกรากเพียง 65 เปอร์เซ็นต์ นอกขจากนี้มีการทดลองใช้ NAA ความเข้มข้น 2,000 ส่วนต่อล้านสามารถชักนำให้กิ่งทาบ เกิดรากได้ถึง 92 เปอร์เซ็นต์



การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี



เลือกกิ่งกระโดงที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใกล้เคียงกับต้นตอความยาวประมาณ 20 นิ้ว ควรเป็นกิ่งที่ได้รับแสงแดด




ขั้นตอนการทาบกิ่ง



1. การเตรียมรอยแผลของต้นตอ โดยเฉือนแผลของต้นตอเป็นรูปลิ่มให้มีความยาวทั้งสองด้านประมาณ 1 นิ้ว

2. การเตรียมรอยแผลของกิ่งพันธุ์ดี เฉือนเฉียงขึ้นให้เข้าเนื้อไม้เล็กน้อยยาวประมาณ 1 นิ้ว


3. นำรอยแผลของต้นตอประกบกับรอยแผลของกิ่งพันธุ์ดี จัดแนวเนื้อเยื่อเจริญให้ชิดกัน


4. พันด้วยพลาสติกให้แน่น ประมาณ 45-60 วัน ต้นตอจะเกิดราก






การตัดกิ่งทาบชำลงถุง



หลังจากทาบกิ่งได้ 45-60 วัน ต้นตอจะเกิดรากโดยสังเกตว่ารากที่เกิดขึ้นมีจำนวนมากค่อยตัดกิ่งมาชำลงถุง ก่อนชำควรริดใบออกบ้างเพื่อลดการคายน้ำ จากนั้นแกะถุงพลาสติกที่หุ้มต้นตอออกควรทำด้วยความระมัดระวังอย่าให้รากกระทบกระเทือน นำกิ่งทาบชำลงในถุงพลาสติก โดยใช้วัสดุชำ คือ ขี้เถ้าแกลบ:ดิน:ปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1:2:1 นำกิ่งที่ชำเก็บไว้ในที่ร่มรำไร ประมาณ 1-2 เดือน เมื่อกิ่งทาบตั้งตัวได้ดี ค่อยนำไปปลูกในแปลง โดยให้รอยต่อของกิ่งทาบอยู่เหนือวัสดุปลูก





การเสริมรากลำไย



การเสริมรากก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะได้ระบบรากแก้ว ซึ่งอาจจะได้ระบบรากแก้ว 2-3 รากทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนของต้นตอที่จะนำไปเสริมราก




วิธีการเสริมราก



1. นำกิ่งตอนพันธุ์ดีลงปลูกในแปลงนำต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1.0 เซนติเมตร ไปปลูกรอบ ๆ ต้นของกิ่งตอนอาจใช้ 2-3 ต้น เพื่อเสริม 2-3 ราก



2. การเตรียมรอยแผลของต้นรากและกิ่งตอน ใช้วิธีแบบฝานบวบ คือ เฉือนกิ่งตอนเป็นรูปโล่ยาวประมาณ 1.5 นิ้ว จำนวนรอยแผลเท่ากับจำนวนของต้นราก เฉือนแผลต้นตอเฉือนเป็นรูปโล่ ยาวประมาณ 1.5 นิ้ว ที่สำคัญอย่าเพิ่งตัดยอดของต้นรากจนกว่ารอยแผลจะเชื่อมกัน



3. นำรอยแผลของต้นรากและกิ่งตอนมาประกบกัน โดยโน้มต้นรากเข้ามาประกบกับรอยแผลของกิ่งตอนจัดเนื้อเยื่อเจริญให้ชิดกัน พันด้วยเชือกฟางหรือผ้าพลาสติกพันให้แน่น



4. ประมาณ 45 วัน เมื่อรอยแผลเชื่อมติดกันสนิทให้ตัดยอดต้นรากที่อยู่เหนือรอยแผลออก



วิธีการขยายพันธุ์ดังกล่าวนี้ในอนาคตน่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามวิธีการนี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคนิคต่าง ๆ ในการทำจึงจะประสบผลสำเร็จ









อ้างอิง
กรมส่งเสริมการเกษตร
ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร  สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้
จ. เชียงใหม่ 50290  โทร. 0-53873938 , 0-53873939
http://www.thaigoodview.com/node/73619
http://locals.in.th/index.php?topic=9874.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น