วันพุธที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2553

การปลูกลิ้นจี่

การปลูกลิ้นจี่




โดย เล็ก ชาตเจริญ
แหล่งกำเนิดและแหล่งปลูก
ลิ้นจี่เป็นไม้กึ่งเมืองหนาว มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของจีนและกล่าวกันว่ามีการปลูกลิ้นจี่ในประเทศจีนมากกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ต่อมาลิ้นจี่ได้แพร่ขยายตัวออกไปยังประเทศต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น อินเดีย พม่า ลังกา ไต้หวัน ออสเตรเลีย อาฟริกาใต้ ฮาวาย ฟลอริด้า ญี่ปุ่นตอนใต้ ควีนสแลนด์ หมู่เกาะอินเดียตะวันตก ปราซิล เวียตนาม เขมร และไทย

สำหรับประเทศไทย ไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการปลูกลิ้นจี่เมื่อไรแต่มีการเขียนถึงลิ้นจี่ในหนังสือของชาวฝรั่งเศสในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2397 เป็นเวลา 129 ปีมาแล้ว แสดงว่าลิ้นจี่มีการปลูกมาก่อนนั้นประมาณว่าราวต้นสมัยรัตนโกสินทร์
ความจริงลิ้นจี่ป่าที่ขึ้นอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น ระยอง จันทบุรี ตราด ที่รู้จักกันในนามสีระมัน ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาเขมรว่า ตระเสรเมือน ซึ่งแปลว่าลูกหงอนไก่ และในป่าภาคเหนือมีต้นคอแลนหรือในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก หมากแงว มีลักษณะคล้ายคลึงกับลิ้นจี่ ขึ้นอยู่กระจัดกระจายทั่วไป จึงอาจกล่าวได้ว่าภาคเหนือของประเทศไทยสามารถปลูกลิ้นจี่ได้ถ้าหากได้รับการคัดเลือกพื้นที่ ดิน อากาศ และการปฎิบัติที่เหมาะสม
ลิ้นจี่ ที่ปลูกกันในประเทศไทย ที่นับว่าเก่าแก่ที่สุด ดูจะอยู่ทางตำบลโพงพาง เขตยานนาวา ตำบลบางค้อ บางประทุม ตำบลบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ตำบลปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และอำเภอบางคนฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนทางภาคเหนือ พบต้นที่เก่าแก่ที่สุด อายุประมาณ 85 ปี เป็นกิ่งตอนปลูกอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลสันทรายน้อยในตรอกตรงข้ามวัดทรายมูล อำเภอทราย จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเป็นของเจ้าราชภาคีนัย ซึ่งสวนนี้ นายเขียว แม่แก้ว จำปา ซื้อไว้ แล้วโอนมรดกให้แก่ พ่อปัน แม่จัน อาษากิจ ผู้เป็นบุตรและปัจจุบันได้ขายให้แก่คนจีนชื่อเจ็ง ได้รับการยืนยันว่าต้นนี้เป็นแม่ของลิ้นจี่บริเวณอำเภอสันทราย ซึ่งรู้จักกันในนามว่า ลิ้นจี่สันทรายและเท่าที่ดูจากลักษณะลำต้น ใบ และผล เป็นพันธุ์เดียวกันกับที่จีนเรียกว่า พันธุ์ฮงฮวย ลักษณะทั่วไปของลิ้นจี่ คือ ลำต้นใหญ่ อวบ แข็งแรง สีของเปลือกค่อนข้างยาว กิ่งบิดเล็กน้อย และง่ามค่อนข้างห่าง ใบใหญ่ ผิวด้านบนเขียวเป็นมัน ด้านล่างออกสีขาวอมเขียวเล็กน้อย ปลายใบไม่ค่อยแหลมเรียว ออกผลเป็นช่อยาว ผลโต ลักษณะค่อนข้างยาว สีชมพูแก่ เนื้อไม่หนานัก รสหวานอมเปรี้ยว กลิ่นหอม เป็นพันธุ์ที่ออกผลค่อนข้างง่าย และเป็นพันธุ์ที่ปลูกกันแพร่หลายที่สุดในภาคเหนือ
ลิ้นจี่นับเป็นผลไม้ที่มีรสดี ราคาแพง คนนิยมบริโภคกันมากและเป็นผลไม้ที่เหมาะแก่การบรรจุกระป๋องมากกว่าลำไย เพราะสามารถคว้านเมล็ดออกได้ง่ายกว่า มีรสเปรี้ยวอมหวานและมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ดีกว่าบรรดาผลไม้จำพวกเงาะ ลำไยด้วยกัน โดยเฉพาะก็คือลิ้นจี่เป็นผลไม้ที่เหมาะแก่การปลูกในภาคเหนือมากที่สุด ในด้านความแข็งแรงทนทาน และอายุยืนนานนับว่าหาต้นไม้ผลแข่งยาก รากของลิ้นจี่เมื่อโตแล้วจะสานกันแน่นคล้ายรากโพธิ์หรือรากไทร โอกาสที่จะล้มไม่มี กิ่งก้านไม่เปราะนัก มีพุ่มที่สวยงาม ผลที่ออกมามีอายุสั้นจากระยะออกดอก จนถึงเก็บผลเพียง 4-5 เดือน เมื่อเทียบกับลำไย 6-7 เดือน ส้ม 8 เดือน เป็นต้น และข้อสำคัญในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูที่ผลลิ้นจี่แก่เป็นช่วงที่ผลไม่ไทยไม่ค่อยมี

ลิ้นจี่ ในภาคเหนือที่ปลูกกันมากได้แก่ ที่เชียงใหม่ทางอำเภอฝาง เชียงดาว สันทราย อำเภอเมือง ที่จังหวัดเชียงรายปลูกมากในอำเภอแม่จัน และแม่สาย
ดินฟ้าอากาศสำหรับลิ้นจี่
อากาศ แหล่งปลูกลิ้นจี่ที่สำคัญจะอยู่ในเขตซึ่งมีเส้นรุ้ง ระหว่าง 20-30 องศาอย่างกวางตุ้ง ฟุกเตียน และฟูเจา เป็นต้น รัฐวิหารและอุตรประเทศ ของอินเดียระหว่างเส้นรุ้ง 23-30องศา ฟลอริด้า 25-30 องศา ฮาวาย 20 องศา (เชียงใหม่และเชียงราย อยู่ระหว่างเส้นรุ้ง 18-19 องศา) ยิ่งองศาน้อยแสดงว่าอากาศยิ่งร้อนยิ่งองศามากอากาศยิ่งหนาว ทั้งนี้เพระแสงแดดจะเฉียงความเข้มข้นของแสงแดดและระยะเวลาที่แผ่นดินได้รับแสงแดดน้อยลงกว่าพวกที่อยู่ใกล้ศูนย์สูตร
ความชื้น ความชื้นในที่นี้แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ
1. ความชื้นในอากาศ ได้แก่ ไอน้ำ ลิ้นจี่ชอบชื้น และให้ผลดีในที่ ๆ อากาศชื้นมีไอน้ำมาก
2. ความชื้นในดิน ได้แก่น้ำในดินที่มากเพียงพอ โดยเฉพาะในระยะติดดอกและผล ถ้าดินแห้งมากดอกและผลจะร่วง

อุณหภูมิ ได้แก่ความร้อยหนาวของอากาศ กล่าวกันว่า ถ้าในฤดูร้อนอากาศร้อนแต่ชื้นและในฤดูหนาวอากาศเย็นและค่อนข้างแห้ง จะเหมาะแก่การเจริญและให้ผลของลิ้นจี่มาก ในช่วงก่อนออกดอก ถ้ามีอากาศหนาวเย็นราว 30-40 องศาฟาเรนไฮท์ หรือราว ๆ 1 องศาเซลเซียสถึง 4.5 องศาเซลเซียส ผ่านเข้ามาเป็นพัก ๆ ก็จะช่วยให้การออกดอกของลิ้นจี่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อุณหภูมินี้แม้จะสูงกว่านี้บ้างเล็กน้อยแต่ถ้านานก็เพียงพอสำหรับการออกดอกของลิ้นจี่แล้ว

ปริมาณฝน สิ่งที่สำคัญสำหรับการปลูกลิ้นจี่ก็คือความชื้นในดินปกติลิ้นจี่ชอบดินที่ค่อนข้างลุ่มตามแม่น้ำและมีปริมาณฝนราว 40-60 นิ้ว/ปี หรือ 1,400-1,500 มิลลิเมตร/ปี แต่ถ้ามีฝนตกน้อยกว่า 40 นิ้ว จะต้องมีน้ำชลประทานเข้าช่วย
อย่างไรก็ดี ลิ้นจี่ไม่ได้ต้องการน้ำมากตลอดปี เพราะในช่วงออกดอกหรือในขณะที่อากาศเริ่มหนาว (อุณหภูมิเริ่มลดลง) ปริมาณน้ำในดินควรจะน้อยลงด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการสะสมของอาหารในส่วนของใบและกิ่ง ก่อนออกดอก ใบลิ้นจี่ควรแก่หมด ไม่มีใบอ่อนแตกออกมา ถ้าเป็นดังนี้การออกดอกก็จะง่ายเข้า แต่เมื่อเห็นช่อชัดเจนแล้วก็เพิ่มความชื้นในดินให้มากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นผงไม่ควรให้ลิ้นจี่ขาดน้ำเป็นอันขาด
ดิน ดินที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตและให้ผลของลิ้นจี่ ควรเป็นดินที่มีหน้าดินลึก มีอินทรียวัตถุมาก ดินร่วนเหนียวเป็นดินที่ลิ้นจี่ชอบมากที่สุด รองลงมาได้แก่ดินร่วน ดินร่วนปนทรายและมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ถึงเป็นกลางคือมี PH ระหว่าง 6-7 และข้อสำคัญไม่ว่าจะเป็นดินชนิดใดก็ตาม จะต้องระบายน้ำได้ดีไม่มีน้ำขังแช่ตลอดเวลา คือควรมีระดับน้ำต่ำกว่าผิวดินอย่างน้อย 75 เซนติเมตร
ลมและพายุ ลิ้นจี่ไม่ชอบลมแรง โดยเฉพาะในที่มีพายุจัดควรตจะหลักเลี่ยงหรือถ้าจำเป็นต้องวางแผนป้องกันลมด้วยการปลูกต้นไม้บังลมไว้ เป็นแนวซึ่งอาจจะปลูกไม้จำพวกไผ่สีสุก มะขามเทศ ยูคาลิปตัส หรือกระถินณรงค์ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
พันธุ์ลิ้นจี่ ลิ้นจี่ในโลกมีอยู่มากมายหลายสิบพันธุ์ ของไทยเราเองก็มีไม่ต่ำกว่า 20 พันธุ์ มีทั้งดีและเลว อย่างไรก็ดีลิ้นจี่ทุกพันธุ์ของเรา ก็เป็นพันธุ์มาจากประเทศจีนเกือบทั้งสิ้น ดังนั้นในการเลือกพันธุ์ลิ้นจี่ที่จะปลูกจึงควรเลือกพันธุ์ที่ดีโดยยึดหลักดังนี้
1. เจริญเติบโตได้ดี เข้ากับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น

2. เลี้ยงดูง่าย มีความต้านทานต่อสภาพที่ไม่เหมาะสมได้ดี

3. ออกดอกและติดผลง่าย
4. มีผลโต สีสวย รสดี และข้อสำคัญต้องไม่มีรสฝาด ควรจะมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เนื้อมาก แห้งและไม่แฉะ
5. มีผลดอกและกระจายสม่ำเสมอ
6. ผลมีเปลือกหนา ไม่แตกหรือช้ำง่าย เก็บไว้ได้ทน
7. ถ้าเป็นพันธุ์ที่มีเมล็ดเล็กและลีบได้ยิ่งดี
ซึ่งถ้ากล่าวตามลักษณะนี้ ในภาคเหนือของเรา มีพันธุ์ที่น่าสนในอยู่ 3 พันธุ์ คือ พันธุ์ฮงฮวย โอวเฮียะ และกิมเจ็ง

โดยเฉพาะพันธุ์ฮงฮวย มีการเจริญเติบโตดีมาก ออกดอกและผลง่าย ผลดก สีสวย รสดี เสียแต่มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่ ส่วนพันธุ์โอวเฮียะและกิมเจ็ง ต้องการอากาศหนาวกว่าพันธุ์ฮงฮวย และต้องการความชื้นในดินมากกว่า ถ้าดินดีอากาศหนาวและน้ำในดินดีแล้วควรเลือกปลูก 2 พันธุ์หลังซึ่งเป็นพันธุ์ที่ดีมากเพราะมีผลโต สีแดงคล้ำ เปลือกหนา เนื้อหนา เมล็ดเล็กรสไม่เปรี้ยว
จึงขอแนะนำว่า ในที่ ๆ อากาศไม่หนาวนัก ดินและน้ำปานกลางควรปลูกพันธุ์ฮงฮวย แต่ถ้าอากาศหนาวเย็น ดินดี และน้ำดีควรปลูกพันธุ์โอวเฮียะและกิมเจ็ง
การคัดเลือกพื้นที่ปลูกลิ้นจี่
จากความรู้ที่ผ่านมาเราได้ทรายแล้วว่า ลิ้นจี่ต้องการน้ำมากต้องการดินดี โดยเฉพาะดินร่วนเหนียว ดินร่วนปนทราย และดินร่วนตามลำดับ ต้องการหน้าดินลึก มีอาหารพืชมาก ลักษณะพื้นที่ดังกล่าวจะหาพบได้ตามริมแม่น้ำใหญ่ ๆ และตามหุบเขา ซึ่งพื้นที่เหนือขึ้นไปเป็นป่าทึบ หรือจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเป็นดินที่เกิดจาก น้ำไหลทรายมูล หรือดินป่าที่มีอินทรียวัตถุทับถมกันมานาน ถ้าจะกล่าวโดยสรุปแล้ว ในการพิจารณาเลือกพื้นที่ ควรจะเป็นดังนี้
1. เลือกพื้นที่ดินจากที่เป็นที่ราบลุ่ม และระยายน้ำได้ดี หรือที่ราบเชิงเขา ที่ราบตามฝั่งแม่น้ำ

2. มีหน้าดินลึกมาก และไม่ควรมีกรวด ลูกรัง ดานแข็ง ในระดับตื้นกว่า 1 เมตร
3. มีแหล่งน้ำซึ่งสามารถนำมาใช้ได้สะดวกตลอดฤดูแล้ง ถ้าเป็นน้ำใต้ดินไม่ควรลึกเกินไปและมีปริมาณน้ำมาก พอที่จะใช้ได้ตามความต้องการ

4. การคมนาคมสะดวกไม่ทุรกันดาร สามารถเข้าออกได้ตลอดปี โดยไม่ลำบาก เหมาะแก่การลำเลียงผลลิ้นจี่ออกมาสู่ตลาดได้โดยไม่บอบช้ำ ใกล้แหล่งแรงงาน แหล่งปุ๋ยธรรมชาติ ซึ่งได้แก่ ปุ๋ยคอก เป็นต้น
การขยายพันธุ์ลิ้นจี่
ลิ้นจี่ ขยายพันธ์ได้หลายทาง ตั้งแต่เพาะเมล็ด ตอน ติดตา ทาบกิ่ง เสียบกิ่ง เป็นต้น แต่ที่สะดวกและได้ผลดี คือการตอน ลิ้นจี่เป็นพันธุ์ไม้ที่ตอนง่าย ออกรากง่าย เพียงแต่ปฏิบัติให้ถูกวิธีเสียก็จะได้ผล กล่าวพอสั้น ๆ ให้เข้าใจ ดังนี้
1. เลือกกิ่งที่โตพอควร มีอายุ 1 ปี อย่าให้เป็นกิ่งใหญ่มากนักและควรเป็นกิ่งเดี่ยว
2. เป็นกิ่งที่มีใบมาก มีใบแก่ทั้งหมด
3. ควั่นกิ่งตอนต้นฤดูฝน ลอกเปลือกออก ขูดเมือกที่กิ่งและในร่องไม้ให้หมด

4. หุ้มดินและกาบมะพร้าว ซึ่งแช่ไว้นานไม่ต่ำกว่า 6 เดือนแล้วหุ้มทับด้วยใบตองหรือพลาสติกบาง

5. หมั่นคอยดูแลอย่าให้กาบมะพร้าว ถ้าฝนหยุดต้องให้น้ำ
6. เมื่อรากออกแล้ว อย่าเพิ่งรีบตัด ควรปล่อยให้รากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเสียก่อน
7. ชำกิ่งลิ้นจี่ที่ตัดออกมาจากต้น โดยรักษาใบไว้ให้มาก แต่รักษาความชุ่มชื้นให้ดี ลิ้นจีจะตั้งตัวเร็วและออกรากมาก

การเตรียมพื้นที่ปลูก
ถ้าเป็นพื้นที่ซึ่งค่อนข้างดอนน้ำไม่ท่วมขังแช่ เพียงแต่วัดระยะปลูกขุดหลุมผสมดินเสร็จ ก็พร้อมที่จะปลูกได้ แต่ถ้าเป็นที่ลุ่มน้ำขังควรทำเป็นโคกให้กว้างและสูงพ้นน้ำอย่างน้อย 1 เมตร หรือถ้าสามารถขุดเป็นร่องแล้วนำดินในร่องมาพูนเป็นแปลงได้ก็ยิ่งดี

ระยะปลูกลิ้นจี่ สุดแล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินปานกลางควรใช้ระยะ 12 เมตร แต่ถ้าดินมีมากอาจจะให้ห่างถึง 17 เมตร การที่ต้องให้ระยะปลูกห่างไว้ก็เพราะลิ้นจี่เป็นไม้พุ่มที่มีอายุนาน แผ่รัศมีกว้างถ้าปลูกถี่ พุ่มจะชนกัน ทำให้การออกดอกและผลในส่วนข้างของลำต้นน้อยจะออกเฉพาะตอนยอดเป็นเหตุให้ผลผลิตต่ำ การปลูกห่างแม้จะเสียเนื้อที่ในระหว่างต้นและแถวมากแต่ก็อาจหาประโยชน์ได้จากการปลูกพืชแซมได้นาน
การวางระยะปลูก อาจจะวางได้เป็น 4 แบบ ดังนี้
1. แบบสี่เหลี่ยมจตุรัส คือระหว่างต้นและแถวเท่ากัน เช่นระหว่างต้น 12 เมตร แถว 12 เมตร
2. แบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า คือระหว่างต้นแคบกว่าระหว่างแถว เช่น ระหว่างต้น 12 เมตร ระหว่างแถว 15 เมตร
3. แบบสามเหลี่ยม เป็นการปลูกแบบสลับกัน ปลูกระหว่างต้นต่อต้นเท่ากัน วิธีนี้จะได้จำนวนต้นมากกว่าแบบที่ 1 เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อย
4. แบบคดโค้งไปตามเนินเขา แบบนี้แถวอาจจะคด และระหว่างแถวอาจไม่เท่ากัน ทั้งนี้แล้วแต่สภาพื้นที่ (ถ้าเป็นพันธุ์กิมเจ็งควรปลูกระยะ 8-10 เมตร เพราะโตช้า)

การปลูก

เมื่อเตรียมหลุมเสร็จแล้ว ให้นำกล้าลิ้นจี่ลงปลูก ถ้าชำอยู่ในถุงพลาสติกให้เอาถุงพลาสติกเสียก่อน แต่ถ้าชำในก๋วยหรือเป๊าะ ควรจุ่มลงในน้ำยากันปลวกเสียก่อน เป็นการป้องกันไว้แต่ต้นมือการปลูกให้คุ้ยดินตรงโคนหลักลงไปเล็กน้อยแล้วปลูกตั้งยอดให้ตรงแนบกับหลัก แล้วกดดินบริเวณโคนต้นด้วยมือให้แน่นพอควร เพื่อให้แน่นพอควร เพื่อให้ดินจับตัวกัน แล้วผูกเชือกรัดหรือลำตันให้แนบกับหลักจนแน่นสัก 2-3 เปลาะ เพื่อกันลมโยก จากนั้นให้หาหญ้า ฟาง หรือต้นกล้วยผ่าเป็นซีกคลุมดินบริเวณหลุมเพื่อรักษาความชื้นและกันน้ำที่รดหรือฝนชะหน้าดินแน่นเสร็จแล้วทำซุ้มบังแดด โดยเฉพาะทางทิศตะวันออก ตะวันตก และส่วนยอดลิ้นจี่ไม่ให้แดดเผา ซุ้มนี้ต้องทนทานจนถึงฤดูฝนและลิ้นจี่ตั้งตัวแล้วจึงเอาออกได้ ข้อสำคัญที่สุด ที่ควรปฏิบัติก็คือพยายามหาทางปลูกลิ้นจี่ตอนต้นฤดูฝนให้ได้ จะเป็นการประหยัดแรงงานและน้ำที่จะใช้รัด และยังช่วยให้ลิ้นจี่ได้รับน้ำฝนหลายเดือนจนตั้งตัวได้ก่อนเข้าฤดูแล้งอีกด้วย
การดูแลหลังจากปลูกแล้ว
1. เมื่อปลูกแล้ว ข้อควรระวังที่สุด ก็คือปลวก ซึ่งเป็นศัตรูที่ทำอันตรายต่อลิ้นจี่ได้มากที่สุดในระยะปลูกใหม่ โดยเข้ากัดกินหลักไม้ที่ปักไว้ เศษกาบมะพร้าว เศษใบไม้ใบหญ้า ฟางที่คลุมและจะกัดกินรากหรือกิ่งลิ้นจี่ที่จมอยู่ในดินทำให้ตายมาก ดังนั้นเมื่อปลูกเสร็จสิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือ ใช้ยาฆ่าปลวกจำพวกคลอเดน ดีลดริน ออลดริน อย่างใดอย่างหนึ่ง อัตรา 2-3 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 ปี๊บ รดราดให้ทั่วหลุมหรือจะใช้ยา บี . เอ . ซี . 2-3 ช้อน โรยกระจายที่หลุมก็ได้
2. หมั่นรดน้ำอย่าให้ดินในหลุมแห้งได้ แต่ต้องไม่ให้ถึงกับแฉะ ถ้าฝนหยุดตกไปหลายวัน ควรรดน้ำ การรดน้ำควรรดให้ดินเปียก จนถึงก้นหลุมดีกว่ารดน้อยเฉพาะปากหลุม เพื่อให้รากหยั่งลงไปลึก ๆ
3. หมั่นคอยดูแลหญ้าตามหลุมปลูก อย่าให้ขึ้นรบกวนแย่งอาหารต้นลิ้นจี่
4. คอยตรวจดูเชือกที่ผูกกิ่งยึดหลัก ถ้าขาดให้มัดใหม่
5. คอยซ่อมซุ้มบังแดดให้อยู่ในสภาพดีเสมอ

6. คอยพ่นยาป้องกันแมลงที่จะรบกวนกัดกินใบ ซึ่งได้แก่หนอนแมลงปีกแข็งและปลวกที่จะเข้าทำลายรากเมื่อหมดฤทธิ์ยา

7. พรวนดินตามปากหลุม ถ้าเห็นว่าดินแน่นควรพรวนดินเบา ๆ อย่าให้ลึกนัก ระวังอย่าทำลายรากผิวดินเป็นอันขาด
การปฏิบัติหลังจากต้นลิ้นจี่ตั้งตัวแล้ว

1. การใส่ปุ๋ย ความจริงปุ๋ยคอกในหลุมปลูกมีสำรองอยู่แล้วอาจจะไม่ให้ปุ๋ยตลอดปีเลยก็ได้ แต่ถ้าหากต้นใดขาดความสมบูรณ์จะพิจารณาเพิ่มปุ๋ยให้บ้างก็ยิ่งดี สำหรับปุ๋ยลิ้นจี่ในประเทศจีนนิยมปุ๋ยอุจจาระคน ถ้าเป็นต้นใหญ่ใส่ถึง 225 กิโลกรัม/ต้น/ปี ในฟลอริด้าถ้าเป็นดินทรายและดินร่วนใช้ปุ๋ย 6-3-6-4 ถ้าเป็นสวนที่เป็นดินบุกเบิกใหม่ใช้ปุ๋ย 4-7-5 หรือ 6-6-6 และอาจปนแมกนีเซี่ยมออกไซด์ลงไป 2-3 ส่วน จำนวนที่ใส่ถ้าเป็นต้นเริ่มปลูกให้ใส่จำนวน 1 กระป๋องนม และเพิ่มขึ้นตามอายุ ถ้าอายุ 5 ปี ก็ใส่ 2-3 กิโลกรัม ใส่ทุก 6 สัปดาห์แล้วค่อยลดจำนวนครั้งลงจนกระทั่งลิ้นจี่มีอายุ 5 ปี ใส่ปีละ 3 ครั้ง
2. การพรวนดิน ลิ้นจี่เป็นพืชที่มีรากหาอาหารอยู่ตามผิวดิน ดังนั้นการพรวนดิน จึงเป็นการทำอันตรายต่อราก เป็นผลเสียหายร้ายแรงต่อต้นลิ้นจี่ควรใช้วิธีปลูกพืชคลุมหรือหาหญ้าฟางคลุมดินบริเวณโคนต้นจะดีกว่าพรวนดิน

3. การแต่งกิ่งลิ้นจี่ มีความจำเป็นในการแต่งกิ่งไม่มากนักเมื่อเทียมกับส้ม ส่งสำคัญในการแต่งกิ่งก็คือพยายามอย่าให้เกิดง่ามแคบ ๆ ซึ่งจะทำให้มีกิ่งในพุ่มมากนัก เพราะกิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยให้ผล จึงควรตัดออก
4. การให้น้ำ ก่อนที่ลิ้นจี่จะถึงอายุให้ผลควรให้น้ำตลอดปี เพื่อให้เจริญเติบโตเร็ว และแข็งแรงแต่เมื่อถึงอายุให้ผลแล้ว เมื่อเริ่มเข้าฤดูหนาวพยายามให้น้ำน้อยลงจนงดให้น้ำ แต่เมื่อเห็นดอกแน่ชัดแล้วจึงเพิ่มน้ำให้มากขึ้นตามลำดับ

การออกดอกและผล

ลิ้นจี่ จะออกผลราวเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์และจะเริ่มเป็นผลแก่ในราวเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ดอกลิ้นจี่จะออกตามปลายกิ่งดังนั้นถ้าปลูกชิดกันมาก ลิ้นจี่จะออกดอกตามพุ่มด้านบนมากกว่าด้านข้าง ทำให้ได้ผลน้อยลิ้นจี่มีดอกปลายประเภท ดอกตัวผู้ ดอกกระเทยที่ทำหน้าที่เป็นเมีย ดอกกระเทยที่ทำหน้าที่เป็นตัวผู้ ดอกชนิดแรกจะบานก่อนในช่อ ถัดมาเป็นดอกชนิดที่ 2 และชนิดที่ 3 ตามลำดับ และแต่ละช่อดอกจะบานไม่พร้อมกันแม้ว่าในช่อเดียวกันลิ้นจี่อาจจะมีโอกาสถ่ายละอองเกสรในช่อเดียวกันก็ตามแต่ก็พบว่าแมลงโดยเฉพาะผึ้งมีส่วนช่วยให้การถ่ายละอองเกสรจากต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่งมาก ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการพ่นยาในระยะดอกบาน

การเก็บผล

จากการที่ช่อดอกในต้นเดียวกันบานไม่พร้อมกันทำให้การแก่ของผลไม่พร้อมกันด้วย ดังนั้นเวลาเก็บผลลิ้นจี่ต้องเก็บเฉพาะช่อที่แก่จัดโดยดูจากสีผิวของผลจะแดงจัดหรือบางพันธุ์แดงจนคล้ำ ถ้ายังอมเขียวอยู่มากหรือสีไม่จัดจะเปรี้ยวไม่ควรเก็บ การเก็บควรทยอยเก็บ 2-3 วันต่อครั้งกว่าจะเก็บหมดจะต้องใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ การเก็บควรใช้กรรไกรตัดให้ติดก้านช่อมาด้วย แล้วมาแต่งอีกครั้ง โดยตัดก้านแห้งและลูกเล็กทิ้ง การเก็บควรเก็บหลังจากน้ำค้างที่ติดผลอยู่แห้งแล้ว เพื่อว่าสีของผิวจะได้ซีดช้าภาชนะที่ใส่ลิ้นจี่ควรเป็นตะกร้า เข่งที่ไม่ลึกนัก คือ ลึกไม่เกิน 10 นิ้วฟุต เพื่อไม่ให้ลิ้นจี่ทับกันแน่นจนช้ำ ถ้าจะเก็บโดยให้สีของผลลิ้นจี่อยู่ได้นานควรเก็บใส่ถุงพลาสติกและเก็บไว้ในที่เย็น
ศัตรู
ศัตรูของลิ้นจี่เหมือน ๆ กับผลไม้อื่น ๆ เช่น หนอนกินใบเพลี้ยต่าง ๆ หนอนเจาะผล มวนหวาน ค้างคาว นก เป็นต้น

แมลงศัตรูลิ้นจี่

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ในบางแห่งพบไรลิ้นจี่ (Frinos mite) ซึ่งเป็นไรที่มีขนาดเล็กมากระบาดมากในฤดูแล้ง ทำลายใบอ่อนด้านล่างให้เป็นสักกะหลาด และเป็นสีน้ำตาล ไรชนิดนี้ทำลายทั้งดอกและผลด้วย นับเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด และป้องกันกำจัดยาก ต้องระยังอย่าเอากิ่งพันธุ์จากแหล่งที่มีศัตรูชนิดนี้ระบาดอยู่ ถ้าพบว่ามีการระบาดจะต้องพ่นยากำจัด เช่น เคลแทน อลาไมท์ หรือไดเมทโธเอท เป็นระยะ ๆ และทุกครั้งที่ออกใบอ่อน.


ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร


สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ. เชียงใหม่ 50290

โทร. 0-53873938 , 0-53873939

แหล่งที่มา : http://www.it.mju.ac.th/dbresearch/organize/extention/book-fruit/fruit032.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น